อนุสาวรีย์นายดอกนายทองแก้ว เป็นอนุสรณ์สถานที่ชาววิเศษชัยชาญและชาวอ่างทองร่วมกันสร้าง เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของวีรบุรุษแห่งบ้านโพธิ์ทะเล ชาววิเศษชัยชาญ ปู่ดอกและปู่ทองแก้ว ยอมสละชีวิตอย่างกล้าหาญเพื่อปกป้องแผ่นดินไทยในการสู้รบกับพม่าที่ค่ายบางระจันก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตกในปี พ.ศ. 2309 โดยนายดอกและนายทองแก้ว เป็นบุคคลสำคัญในกลุ่มของ 11 วีรชนแห่งชาวบ้านบางระจัน ซึ่งการรบที่บางระจันนั้น เป็นการรบเพื่อป้องกันตัวเองของชาวบ้านเมืองสิงห์บุรีและเมืองต่าง ๆ ที่พากันมาหลบภัยกองทัพพม่าสงครามบางระจันในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง สามารถต้านทานการเข้าตีของกองทัพพม่าได้หลายครั้ง จนได้ชื่อว่า “เข้มแข็งกว่ากองทัพ ของกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น” และมีกิตติศัพท์เลื่องลือด้านวีรกรรมความกล้าหาญในประวัติศาสตร์ไทย วีรกรรมอันกล้าหาญของนักรบไทยค่ายบางระจัน เป็นที่ภาคภูมิใจและอยู่ในความทรงจำของคนไทยตลอดมา ชาวเมืองอ่างทองจึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายดอก และนายทองแก้วไว้ ที่บริเวณวัดวิเศษชัยชาญ โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จ พระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2520 ในวันนี้ของทุกปี ชาวเมืองอ่างทองจะทำพิธีวางมาลาสักการะอนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดี ในวีรกรรมความกล้าหาญของท่านอย่างมิอาจลืมเลือน ตำนานแห่งวีรบุรุษ ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2307 กองทัพพม่าภายใต้การนำของเนเมียวสีหบดี ซึ่งแต่เดิมทีจะปราบปราม กบฏต่ออาณาจักรพม่าเท่านั้น แต่เนื่องจากความอ่อนแอของอาณาจักรอยุธยา ทำให้เนเมียวสีหบดีตั้งเป้า ที่จะเข้าตีกรุงศรีอยุธยา โดยรุกเข้าสู่อยุธยาทางเหนือ และมาหยุดที่เมืองวิเศษชัยชาญ จากนั้นสั่งให้ทหารพม่ากวาดต้อนทรัพย์สินและผู้คนทางเมืองวิเศษชัยชาญ ราษฎรจึงพากันโกรธแค้น และวางแผนต่อสู้ร่วมกัน โดยประกอบด้วยชาวเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรคบุรี และชาวบ้านใกล้เคียง ในบรรดาชาวบ้านที่ร่วมกันนี้มีหัวหน้าคนสำคัญคือ นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง ซึ่งได้หลอกลวงทหารพม่าให้ไปหาทรัพย์ที่ต้องการ ทหารพม่าเกิดหลงเชื่อ จึงถูกนายโชติ และพรรคพวกที่ซุ่มอยู่บุกเข้ามาฆ่าฟันพม่าตายประมาณ 20 คน แล้วจึงพากันหนีกระเจิงไปยังบางระจัน ในขณะนั้นชาวเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ต่างเข้ามาหลบอาศัยอยู่ที่บางระจันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ข้าศึกตามเข้าไปได้ยาก โดยชาวบ้านอพยพและไปขอพึ่งพระอาจารย์ธรรมโชติ ซึ่งมีกิตติศัพท์ว่ามีความเชี่ยวชาญทางวิทยาคม ต่อมานายแท่นและคนอื่น ๆ ชักชวนชาวบ้านได้อีกประมาณ 400 คนเศษพากันมาอยู่ที่บ้านบางระจัน หลังจากนั้นก็ตั้งค่ายขึ้นล้อมรอบบ้านบางระจัน 2 ค่าย เพื่อป้องกันทหารพม่าที่จะยกติดตามมาและเพื่อจัดหากำลังและศัตราวุธในแถบตำบลนั้น ในขณะนั้นมีคนไทยชั้นหัวหน้าที่เข้ามาร่วมด้วย คือ ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว นายทองแสงใหญ่ รวมทั้งนายดอก และนายทองแก้ว รวมทั้งหมด 11 คน โดยตั้งกองสู้กับกองทัพพม่าอย่างไม่เกรงกลัวต่อความตาย