



ก่อนหน้าที่จะเป็นวัดอ่างทองวรวิหารเช่นในปัจจุบัน เดิมทีวัดแห่งนี้เป็นวัดเล็ก ๆ สองวัด คือวัดโพธิ์เงิน และวัดโพธิ์ทอง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้รวมวัดสองแห่งเป็นวัดเดียวกัน ตรงกับปี พ.ศ. 2443 และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดอ่างทอง ความโดดเด่นสะดุดตาที่ใครผ่านมา ต้องมาหยุดตรงที่พระอุโบสถอันแสนงดงามมีพระเจดีย์ทรงระฆังประดับด้วยกระจกสีและหมู่กุฏิทรงไทยสร้างด้วยไม้สักและดูเป็นระบบระเบียบตามรูปแบบสถาปัตยกรรมของงานศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในวัดมีการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์นับตั้งแต่พระครูวิเศษชยสิทธิ์ได้มาปกครองที่วัดแห่งนี้ โดยการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่าง ๆ เช่น ทำกำแพงแก้วพระอุโบสถ ตลอดจนปูกระเบื้องซีเมนต์ พื้นของกำแพงแก้ว และก่อสร้างพระเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปต่าง ๆ อีกด้วย สำหรับพระประธานในพระอุโบสถสร้างด้วยก่ออิฐถือปูน เป็นพระปางมารวิชัย และเป็นพระประธานคู่กับวัดมาแต่แรก มีลักษณะที่ไม่ถูกสัดส่วน ซึ่งในขณะนั้นเริ่มชำรุดและเอนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือจนใกล้โค่น แต่ยังไม่มีใครคิดปฏิสังขรณ์ หรือแก้ไขให้คืนดังเดิม ด้วยเห็นว่าเป็นพระที่ปั้นด้วยปูน หากขยับเขยื้อนก็เกรงจะเป็นการซ้ำเติมให้พังเร็วลงอีก ซึ่งดูจะเป็นบาปแก่ผู้กระทำ จึงปล่อยให้เอนอยู่อย่างนั้น และพากันคาดคะเนว่า ในชั่วเวลาอีกไม่เกินหนึ่งปี ก็จะโค่นลงมาเอง ภายหลังได้ร่วมใจกันหล่อพระประธานขึ้นใหม่ด้วยโลหะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 1.42 เมตร สูง 2.00 เมตร โดยผู้เชี่ยวชาญคำนวณว่าพระองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยเมื่อครั้งทรงพระชนม์ชีพอยู่มีขนาดเท่านั้น และหวังว่าถ้าพระองค์เดิมพังแล้ว ก็จะนำองค์ที่หล่อขึ้นใหม่ประดิษฐานแทนการหล่อพระประธานองค์นี้ ครั้งแรกปรากฏว่าตอนพระเศียรไม่ติด ต่างพากันเข้าใจว่าเป็นความบกพร่องของนายช่าง เมื่อการหล่อครั้งแรกไม่สำเร็จ จึงได้กระทำพิธีหล่อขึ้นใหม่ ในการหล่อครั้งหลังนี้ นายช่างได้กระทำพิธีสักการบูชา และบอกกล่าวต่อพระประธานองค์เดิม จึงปรากฏว่าการหล่อครั้งหลังนี้สำเร็จลง แม้จะไม่เรียบร้อย ก็พอจะตบแต่งให้เข้าที่ได้ จึงส่งไปขัดที่บ้านช่างหล่อธนบุรี เมื่อขัดแล้วเสร็จ ก็ได้นำเข้าไปไว้ในพระอุโบสถ เพื่อรอโอกาสให้องค์เดิมพังก็จะได้นำองค์ใหม่ขึ้นประดิษฐานแทน ต่อมาไม่นาน พระประธานองค์ที่คาดกันว่าจะโค่นพังลงมานั้นแทนที่จะโค่นลงตามความคาดหวัง กลับตั้งตรงขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อเหตุการณ์กลับมาเป็นเช่นนี้ จึงชวนให้สงสัย คงจะมีใครไปจัดการแก้ไขให้กลับคืนมาเป็นแน่ แต่เมื่อได้ตรวจดูกันอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ก็ไม่มีรอยปรากฏที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครเข้าไปแตะต้องเลย ในขณะที่เอนอยู่เดิมนั้นเพราะแท่นได้ชำรุดลงไปแถบหนึ่ง และแถบนั้นก็น่าจะต้องรับน้ำหนักมากขึ้น ส่วนอีกแถบหนึ่ง การรับน้ำหนักก็มีแต่จะน้อยลงแต่แถบดังกล่าวนี้กลับทรุดลงไปเสมอกันอีก จึงทำให้องค์พระประธานตั้งตรงได้ดิ่งกับฉัตรที่เหนือพระเศียรพอดี สร้างความงุนงงแก่ผู้พบเห็นเป็นอันมากต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่า ท่านแสดงอภินิหารให้ปรากฏ ประชาชนจึงพาเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น จนทำการปฏิสังขรณ์ขึ้นอีก โดยทำแท่นให้แข็งแรงและลงรักปิดทองจนเป็นที่เรียบร้อย สำหรับองค์ที่หล่อขึ้นใหม่นั้นก็ได้นำขึ้นประดิษฐานไว้ตอนหน้าพระองค์เดิมนั่นเอง