



จากวัดร้างที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายหรือ พ.ศ. 2230 ตั้งอยู่แขวงเมืองวิเศษชาญ ซึ่งเคยเป็นเมืองหน้าด่าน ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาได้เสียกรุงให้แก่พม่า และพม่าได้เผาผลาญบ้านเมือง วัดวาอาราม และพระพุทธรูปไปเป็นจำนวนมากสิ่งที่หลงเหลืออยู่ คือ ซากปรักหักพังของวัดวาอาราม และพระพุทธรูป ที่อยู่บนเนินต้นไม้ใหญ่เป็นจำนวนมาก ภายหลังท่านพระครูวิบูลอาจารคุณ (หลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ) ได้มาปักกลดธุงดงค์ เห็นว่าบริเวณนี้เคยเป็นวัดร้าง จึงน่าปฏิบัติธรรม แต่ขณะปฏิบัติธรรม ได้ปรากฏนิมิต เห็นองค์หลวงปู่ขาว และหลวงปู่แดง มาบอกว่าให้ท่านได้ช่วยก่อสร้างวัดม่วงขึ้นมาใหม่ เพราะท่านพระครู เป็นผู้มีบารมี ที่สามารถจะก่อสร้างบูรณะวัดม่วงขึ้นมาใหม่ และจะส่งผลให้ผู้ที่เคยอาศัยบริเวณนี้ในสมัยก่อนได้มาเกิด ซึ่งในบริเวณวัดร้างยังคงมีศิลาขาวและศิลาแดงตั้งอยู่ ซึ่งก็คือ องค์ของหลวงปู่ขาวและหลวงปู่แดงนั่นเอง ต่อมาท่านพระครูวิบูลอาจารคุณ ได้มีการปั้นองค์พระครอบศิลาขาว และศิลาแดงไว้ โดยเรียกนามว่า หลวงปู่ขาว และหลวงปู่แดง จนถึงปัจจุบันนี้ ในปี พ.ศ. 2526 ท่านพระครูวิบูลอาจารคุณ ได้มีการเริ่มบูรณะและได้สร้างเสนาสนะต่าง ๆ ขึ้น โดยได้รับการบริจาคทั้งเงินทำบุญและทำบุญด้วยแรงงาน ร่วมกันดำเนินงานในการก่อสร้าง จนกระทั่งวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2527 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศยกฐานะให้วัดม่วงเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ และวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2527 ได้แต่งตั้งท่านพระครูวิบูลอาจารคุณเป็นเจ้าอาวาสวัดม่วง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่วัดม่วง เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2529 ในปี พ.ศ. 2534 ท่านพระวิบูลอาจารคุณ ได้ร่วมพลังจิตอธิฐาน ร่วมกับประชาชนผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ ได้สมทบทุนสร้างพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพระนามว่าพระพุทธมหานมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ เพื่อน้อมถวาย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยขนาดหน้าตักกว้าง 62 ม. สูง 93 ม. มูลค่าในการก่อสร้างราวหนึ่งร้อยหกล้านบาท โดยใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น 16 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535-2550 ปัจจุบันวัดม่วง มีพื้นที่กว้างขวางถึง 72 ไร่ ซึ่งที่ดินดังกล่าว ท่านพระครูวิบูลอาจารคุณ ได้ซื้อรวบรวมได้ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ เพื่อจัดทำเป็นสถานที่ศึกษาพระธรรม พระพุทธศาสนาและปฏิบัติธรรม สำหรับพระภิกษุสงฆ์ตลอดจนประชาชนทั่วไป, โรงพยาบาลสงฆ์, ศูนย์จำหน่ายสินค้าศิลปาชีพในโครงการหลวง สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 3563 1556, 0 3563 1974