ภาพงานจิตรกรรมบนฝาผนังภายในอุโบสถวัดเขียนนั้น เป็นที่เลื่องลือถึงความงดงามมาแต่ไกล โดยที่เห็นในปัจจุบันเป็นการปรับปรุงบางส่วนจากของเดิม ซึ่งถูกน้ำฝนไหลชะภาพเขียนจนเกิดความเสียหาย เพราะในขณะนั้นราวปี พ.ศ. 2511 สภาพของอุโบสถย่ำแย่ หลังคาทรุดโทรมเป็นอย่างมาก ต่อมาเมื่อมีข่าวแพร่สะพัดออกไป ได้มีผู้สนใจไปดูของเดิมกันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดกฐินที่วัดเขียน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดการซ่อมแซมพระอุโบสถโดยให้คงรักษาสภาพเดิมไว้ ต่อมาช่างจึงทำการรื้อหลังคาเดิมออก จากนั้นได้ก่อผนังขนาบภายนอกให้คร่อมทับของเดิม แล้วจัดการมุงหลังคาเสียใหม่ สภาพจึงได้เข้าสู่ความเรียบร้อยดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ รวมทั้งเสมากับแท่นปูนฐานสิงห์รองรับใบเสมารอบพระอุโบสถ อันเป็นใบเสมาในระยะต้นของรูปแบบเสมาอยุธยาตอนปลายมีลักษณะเป็นพระเกี้ยวครอบทับเสมาตรงกลางเสมามีลายเป็นแบบทับทรวง เหมือนใบเสมารุ่นก่อนวัดไชยวัฒนารามทั่วไป ดังเช่นใบเสมาวัดในวรวิหารสมุทรปราการ สำหรับภาพวาดจิตรกรรมที่ปรากฏบนผนังนั้น เป็นเรื่องราวในวรรณคดีไทย ถ่ายทอดเรื่องราวทาง ประวัติศาสตร์ และงานสถาปัตยกรรมของไทย ที่แสดงถึงความอ่อนช้อย สวยงาม ผ่านภาพเขียนไทย เช่น ภาพมโนราห์บนผนังด้านทิศใต้ มีรูปป้อมแปดเหลี่ยมที่มุมกำแพง เป็นหอซ้อนกัน 2 ชั้น แต่ละด้านก่อช่องโค้งแบบโค้งมน ยอดหลังคาชั้นบนลดหลั่นกัน 2 ชั้น รูปทรงแบบฝรั่งบ่งบอกว่าได้รับอิทธิพลจากฝรั่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภาพซุ้มประตูกำแพงเมืองทางผนังทางทิศใต้ เป็นแบบซุ้มเรือนคฤหาสน์หรือปราสาทยอดแหลม เช่นเดียวกันกับที่ปรากฏอยู่ในภาพเขียนวัดใหม่เทพนิมิตสมัยอยุธยาตอนปลาย ภาพผนังด้านทิศใต้เขียนรูปปราสาททรงสูง ยอดปราสาทแหลมสะพรั่ง ข้างในระบายด้วยสีแดงชาด เป็นแบบแผนของภาพเขียนไทยอันนิยมมาแต่สมัยโบราณ ภาพมุมด้านข้างทางทิศตะวันออก มีรูปพระพุทธเจ้าและอัครสาวกห่มจีวรสีแดงแบบศิลปะอยุธยาทั่ว ๆ ไป สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 3553 5789