วันศุกร์ ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2566, 20.09 น.
‘ปลัดมท.’ ปิดอบรม ‘อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข รุ่นที่ 2’ ย้ำเป็นผู้นำต้องทำก่อน-ร่วมกันขยายผลสร้างสิ่งที่ดีให้กับประชาชน
วันที่ 27 มกราคม 2566 ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก ต.สาริกา อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีปิดการอบรมโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 2 โดยมี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนสำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกรมการพัฒนาชุมชน และผู้เข้ารับการฝึกอบรม ประกอบด้วย นายอำเภอ และภาคีเครือข่าย “ทีมอำเภอ” ในพื้นที่จังหวัดนครนายก ปทุมธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และจังหวัดอ่างทอง รวม 100 คน ร่วมรับฟังบรรยาย
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า โครงการอำเภอ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เป็นโครงการที่สำคัญของกระทรวงมหาดไทย มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนายอำเภอและ “ทีมผู้นำ” ในระดับพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบูรณาการความร่วมมือของภาคีเครือข่ายระดับอำเภอผ่านกระบวนการปลูกฝังค่านิยม “การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง” เพื่อสร้างกลไกการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานเพื่อประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิดการ Change for Good เสริมสร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในทุกอำเภอทุกพื้นที่ของประเทศไทย
“ผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรม “โครงการอำเภอ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ทุกคน ล้วนเป็นบุคลากรและภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยที่มีความเสียสละ มีจิตอาสา และได้รับการคัดเลือกในเบื้องต้นแล้วจากท่านนายอำเภอทั่วประเทศ ด้วยเหตุเพราะว่า ทุกท่านคือผู้มีจิตอาสา คือผู้มี Passion มีความเสียสละโดยแท้จริงในหัวใจ ทำให้ผู้นำของอำเภอ คือ ท่านนายอำเภอ ได้เลือกให้ทุกเข้ามาอบรม สั่งสมประสบการณ์ เพิ่มพูนความรู้และใช้ชีวิตร่วมกับท่านนายอำเภอ เพื่อให้ทุกคนเป็น Change Agent นำความรู้ไปพัฒนาพื้นที่อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน/ชุมชนให้มีแต่สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ห้วงเวลาของการฝึกอบรมตั้งแต่วันที่ 23-27 มกราคม 2566 ทั้ง 5 วัน 4 คืนนี้ ทำให้ทุกคนได้รู้จักกันมากขึ้น ได้เป็นภาคีเครือข่าย ได้เป็นเพื่อน ได้เป็นพี่ เป็นน้อง ในการมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งที่ดี สร้างสรรค์พลังบวกให้กับพื้นที่ของพวกเราทุกคน เพราะว่าตลอดระยะเวลาที่ทุกท่านได้ฝึกอบรมอยู่ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายกแห่งนี้ ได้มีกิจกรรมที่ทำให้ทุกคนได้ร่วมแรงแข็งขันทำด้วยกัน เช่น กิจกรรมเชิงปฏิบัติ (WORK SHOP) ระดมความคิดเห็น การพูดคุยปรึกษาหารือซึ่งกันและกัน อันจะทำให้ท่านนายอำเภอ ปลัดอำเภอ และทีมผู้นำของอำเภอ มีความสนิทชิดเชื้อคุ้นเคยกันเป็นพี่เป็นน้องกันมากกว่าการที่นายอำเภอและทีมงานจะนั่งทำงานอยู่ที่อำเภออย่างแน่นอน โดยหลังจากการฝึกอบรมในครั้งนี้ ท่านนายอำเภอจะต้องนำทีมผู้นำของอำเภอทุกท่านที่ได้ฝึกอบรมด้วยกันนี้ ลงพื้นที่ไปพบปะ ไปเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชน ศึกษาประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ลงไปคลุกคลีตีโมง เคารพนบนอบพี่น้องประชาชนเหมือนญาติมิตรของเรา ดังพุทธศาสนสุภาษิต “วิสฺสาสปรมา ญาตี : ความคุ้นเคย เป็นญาติอย่างยิ่ง” เพื่อให้ประชาชนได้รับโอกาสที่ดีของชีวิต สอดคล้องกับแนวทางการทำงานของชาวมหาดไทยที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีได้ประทานไว้ว่า “ให้รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” ด้วยการหมั่นลงพื้นที่เข้าไปหาพี่น้องประชาชน เข้าไปอยู่ในหัวใจของประชาชน กระทั่งรองเท้าสึก มากกว่าการนั่งโต๊ะที่ทำแค่งานเอกสารจนเป้ากางเกงขาดโดยที่ไม่รู้งานในพื้นที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นายอำเภอต้องตระหนักเสมอว่า “ตัวเองนั้นเปรียบดังต้นข้าวที่สุกโน้มลงไปหาประชาชน” และอีกประการที่สำคัญ คือ นายอำเภอต้องเปรียบดั่งแม่เหล็กที่ดึงดูดทุกภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคประชาสังคม ปราชญ์ชาวบ้าน ภาคประชาชน ตลอดจนภาคสื่อสารมวลชน มาระดมความคิด มานั่งดื่มน้ำชา มาหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนในพื้นที่ มาสะท้อนความต้องการหรือข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อ อาทิ การน้อมนำโครงการพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” รวมทั้งโครงการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมของกระทรวงมหาดไทย ด้วยการทำให้พี่น้องประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ และการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งหากทุกคนได้ร่วมกันทำให้เกิดเป็นรูปธรรม เป็นมรรคผล ด้วยการเริ่มที่ตัวเรา เป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ก็จะสามารถเป็นแบบอย่างให้กับพี่น้องประชาชน ทำให้พี่น้องประชาชนได้เห็น ทำให้เด็ก เยาวชนได้เห็น และทำตามเป็นแบบอย่าง
“นายอำเภอต้องสร้างทีมหมู่บ้านที่เป็นทางการ คือ คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) อันประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ให้เข้มแข็ง ให้รู้จักหน้าที่และทำตามหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ รวมทั้งสร้างทีมผู้รับผิดชอบประจำตำบล อันประประกอบด้วย ปลัดอำเภอและข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบลให้มีความเข้มแข็ง และขยายผลสร้างทีมตำบล ทีมหมู่บ้านให้ครบทั่วทั้งพื้นที่ ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อจะได้ร่วมกันมุ่งมั่นทำหน้าที่พัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนขั้นต่ำทุกหมู่บ้าน ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเอง สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ปลูกพืชผักสวนครัวเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ มีความรักสามัคคีในครอบครัว ในชุมชน เมื่อคนในชุมชนรักใคร่ชอบพอมีมิตรจิตมิตรใจกันสังคมของหมู่บ้านก็จะดี และเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน”” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนอย่าทอดทิ้งความรู้และมิตรภาพที่ได้จากโครงการฝึกอบรมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการในครั้งนี้ ทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นบัวพ้นน้ำ มีดวงตาเห็นธรรม ใช้พลังแห่งความสามัคคี นำทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้รับประโยชน์ไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจทำให้เกิดสิ่งที่ดีเพื่อพี่น้องประชาชน เพื่อประเทศชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ ราชสีห์ผู้จงรักภักดีและข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน ให้มีความทุกข์ลดน้อยลงจนหมดไป มีแต่ความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน”