Notice: Trying to get property 'child' of non-object in /home/ephclubc/domains/bethailand.com/public_html/angthong/wp-content/themes/jnews/class/ContentTag.php on line 45
ในยุคโควิดที่คนส่วนใหญ่อยู่บ้าน การสั่งอาหารเดลิเวอรีกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย ปัจจุบันธุรกิจแพลตฟอร์มนี้เติบโตสวนทางกับอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
อาชีพขนส่งอาหารที่สัมพันธ์กับแพลตฟอร์มนี้ก็เนื้อหอม แรงงานวัยทำงานจำนวนมากเลือกจะเป็นไรเดอร์ คิดว่า มีความเป็นอิสระในการทำงาน ได้เป็นเจ้านายตัวเอง อีกส่วนต้องการหารายได้เสริม เพราะงานประจำรายได้ไม่เพียงพอ และคนไม่น้อยหันมาขับรถส่งอาหารเหตุตกงานช่วงโควิด
อย่างไรก็ตาม แรงงานที่ทำงานให้ธุรกิจเหล่านี้อยู่ในภาวะจำยอมต่อเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมจากเจ้าของธุรกิจ จนถึงสภาพการทำงานบนความเสี่ยงชีวิตบนสองล้อ บนเส้นทางแลกเงิน และสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดหนัก
อาจารย์อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิชาการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-COLLAR) ลงไปศึกษาและสำรวจสภาพทำงานของไรเดอร์ทั้งใน กทม.และต่างหวัด อย่างขอนแก่น อ่างทอง และปัตตานี จนกระทั่งผู้ประกอบการธุรกิจนี้ เพื่อจัดทำรายงาน “ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวนสภาพการทำงานและหลักประกันทาง สังคมของของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์แพร่ ระบาดของโควิด-19 “ นำเสนอสู่สาธารณะ เพื่อสะท้อนชีวิตการทำงานที่ไร้หลักประกันของไรเดอร์บ้านเรา และโยนคำถามถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกแก้ปัญหา
อาจารย์อรรคณัฐ เผยผลวิจัยว่า อาชีพไรเดอร์เป็นกิจกรรมการเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากในช่วงโควิด แต่พบมีปัญหาที่มาพร้อมโอกาส ทั้งสภาพการทำงาน หลักประกันการว่างงานและวัยชรา สวัสดิการพื้นฐานทางสุขภาพและสังคม ความปลอดภัยและความเสี่ยงจากการทำงาน ความมั่งคงทางรายได้ งานศึกษาที่นำไปสู่การแก้ปัญหามีจำกัด ซึ่งปี 64 ธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารเติบโตสวนทางกับอุตสาหกรรมอาหาร อัตราร้อยละ 18 ถึง 20 จำนวนสั่งไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง ปัจจัยจากโควิดและมาตรการรัฐ อนาคตการจ้างงานแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะมากขึ้น
“ ร้านค้าและไรเดอร์ในฐานะของพาร์ทเนอร์ที่แพลตฟอร์มใช้เป็นคำจำกัดความในโมเดลธุรกิจนี้ ไม่ใช่หุ้นส่วน ไร้อำนาจตัดสินใจ แต่เป็นคู่ค้า ไม่มีมุมมองของคำว่า”แรงงาน” แพลตฟอร์มมีความสามารถสร้างรายได้หลากหลายช่องทาง “
สำหรับการเข้าสู่อาชีพไรเดอร์ นักวิจัยบอกไม่ต่างจากการรับสมัครงานทั่วไป ทั้งไลน์แมน แกรบ โรบินฮู้ด ฟู้ดแพนด้า ลาลามูฟ แม้ยืนยันไรเดอร์เป็นคู่ค้า แต่วิธีคัดเลือกเข้าทำงาน ให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เงื่อนไขด้านยานพาหนะ ตรวจประวัติอาชญากรรม บัญชีธนาคาร อบรม ทดสอบ เงื่อนไขทำงาน เช่น จ่ายสมัคร ค่าแจ็กเก็ต กระเป๋า มีลงโทษเมื่อทำผิด ไรเดอร์ไร้อำนาจต่อรองชัดเจน ทั้งที่เป็นอาชีพที่มีต้นทุน
“ การทำงานถูกกำหนดโดยแพลตฟอร์ม การรับงานมีทั้งบริษัทยิงงานให้และไรเดอร์กดงานแย่งกัน การยืนยันออเดอร์แต่ละบริษัทต่างกัน ในต่างประเทศการกำหนดขั้นตอนทำงานของแพลตฟอร์มไรเดอร์ นำมาใช้เป็นปัจจัยนิยามความหมายแรงงานตามกฎหมายแรงงาน แต่ไทยยังไปไม่ถึง “
แง่รายได้ นักวิจัยระบุบริษัทแพลตฟอร์มกำหนดค่าตอบแทนต่อครั้งและค่าตอบแทนแบบจูงใจ เพิ่มลดความที่เห็นเหมาะสม แถมแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ทั้งที่ต้นทุนทำงานไรเดอร์ต้องจ่าย ไม่ต่างกันตามพื้นที่ ไรเดอร์จะอยู่สถานที่ดี คัดจากทำงานมีประสิทธิภาพ ธุรกิจหนึ่งโปรโมทให้คนมาทำงานด้วยข้อความว่า”ที่สุดแห่งอิสระ” ถามว่าอิสระอยู่ตรงไหน นำมาสู่การรวมกลุ่มต่อรองที่เข้มข้นมาก แต่แรงงานบางส่วนไม่สะดวกใจ เพราะธุรกิจมีบทลงโทษ
จากรายงานฉบับนี้ สำรวจไรเดอร์ส่วนใหญ่เป็นชาย ส่วนสาวไรเดอร์ชั่วโมงการทำงานเวลากลางคืนน้อยกว่าด้วยเรื่องความปลอดภัย ด้านอายุพบแรงงานตอนต้น 18-29 ปี รองลงมาแรงงานตอนกลาง 30-44 ปี และแรงงานตอนปลาย รวมถึงผู้สูงอายุ แต่จำนวนไม่มาก ระดับการศึกษาสูงสุดของไรเดอร์ จบมัธยมปลาย และระดับปริญญาตรี
อีกข้อสังเกตพื้นที่ต่างจังหวัดเหล่าไรเดอร์จบปริญญาตรี เขาตีความว่า อาจเพราะตำแหน่งงานในระดับปริญญาตรีมีน้อย ทั้งที่มีทักษะ กลับต้องหันเข้าสู่อาชีพที่ไม่มั่นคงทั้งสัญญาจ้าง และขาดหลักประกันสังคม นอกจากนี้ กว่า 80% ทำเป็นอาชีพหลัก
นักวิจัยระบุรายได้เฉลี่ยของไรเดอร์ทั้งประเทศอยู่ที่ 18,000 บาท ถ้าหักต้นทุนค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอ ค่าอินเตอร์เน็ต เฉลี่ย 3,000 บาท จะเหลือเงินไม่ถึง 15,000 บาท ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติก็ใกล้เคียงกัน เป็นการลบล้างความคิดที่ว่าอาชีพนี้ค่าตอบแทนสูง
“ ถ้าดูชั่วโมงการทำงานไรเดอร์ มากกว่า 45% ทำงานจริงเกินสัปดาห์ละ 60 ชม. สภาพการทำงานลำบาก เกิดปัญหาสุขภาพปวดเมื่อยร่างกาย เป็นไข้จากทำงานตากแดดตากฝน ไม่รวมอัตราเกิดอุบัติเหตุที่นับว่าสูง พบ 1 ใน 3 ของไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุระหว่างทำงาน กว่า 40% บาดเจ็บสาหัส บางรายเสียชีวิต มีอาชีพใดในโลกที่เสี่ยงมากกว่านี้ไม่มีแล้ว เมื่อพักรักษาตัว มีรายได้ลดลง “ อาจารย์อรรคณัฐ เผยสภาพการทำงานไรเดอร์
ทุกวันนี้แพลตฟอร์มต่างๆ เริ่มจัดให้มีประกันอุบัติเหตุ แต่ให้ในฐานะค่าตอบแทนจูงใจ ที่จะต้องให้ไรเดอร์ทำงานหนักมากขึ้น หรือให้แบบมีเงื่อนไข เช่น แพลตฟอร์มฟู้ดแพนด้าให้สิทธิประกันอุบัติเหตุเฉพาะไรเดอร์ทำงานครบ 6 เดือนหรือจำนวนงานที่ทำต่อเดือน ที่ผ่านมา ไรเดอร์เรียกร้องประกันภัยแบบไม่มีเงื่อนไขและจัดประกันสุขภาพที่เหมาะสม
สารพัดปัญหาที่รายงานตีแผ่ออกมา ยังมีระบบแพลตฟอร์มที่ไม่เสถียร ค้าง กระตุก หรือบางเวลาถึงขั้นระบบล่ม ทำให้ไรเดอร์เสียรายได้ ตลอดจนให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากกว่า การให้ความช่วยเหลือของแพลตฟอร์มล่าช้า ทำให้เสียโอกาส ส่วนหลักประกันทางสังคม ไรเดอร์ทั่วประเทศอยู่ในระบบประกันสังคมทุกมาตรการ เพียงร้อยละ23 มีผู้ซื้อหลักประกันสุขภาพจากเอกชน ร้อยละ 33 ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นไรเดอร์ในกรุง จำนวนมากมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
“ ไรเดอร์ต้องการให้บริษัทเพิ่มค่าตอบแทนมากขึ้น มีประกันรายได้ขั้นต่ำต่อวัน หรือจำนวนวิ่งต่อวัน เพราะการรอคอยเป็นการเตรียมพร้อมรับงาน แต่ผู้ประกอบการไม่คิดเป็นเวลาทำงาน ไม่ยุติธรรม รวมถึงต้องการปรับปรุงระบบกระจายงานให้เสถียรมากขึ้น “ นักวิจัยสะท้อนความต้องการไรเดอร์
ไฮไลท์ที่ต้องขีดเส้นใต้จากผลวิจัยนี้เกี่ยวกับความสัมพันธ์การจ้างที่ไรเดอร์ต้องการ อาจารย์อรรคณัฐให้ข้อมูลว่า ไรเดอร์เกินครึ่งต้องการเป็นแรงงานอิสระ ไม่มีสถานะเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม แม้ได้อธิบายว่า การเป็นแรงงานอิสระจะไม่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานและสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่ไรเดอร์ส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องผูกมัดด้วยเงื่อนไขเวลาทำงาน ฉะนั้น การออกแบบหลักประกันทางสังคมต้องทำความเข้าใจความต้องการของไรเดอร์และผู้ประกอบการ โดยสอดคล้องความคุ้มครองที่แรงงานจำเป็นต้องมี
ตอกย้ำชีวิตสุดหินของไรเดอร์ไทยผ่านคำบอกเล่า อนุกูล ราชกุณา ตัวแทนสหภาพไรเดอร์ กล่าวว่า ไรเดอร์มีอิสระในการทำงาน ไม่ต้องตอกบัตรเข้างาน เป็นแค่ภาพลวงตา แต่คำว่า”อิสระ”ของแพลตฟอร์มนี้แฝงด้วยกฎระเบียบต่างๆ ตนทำอาชีพนี้มาเกือบ 4 ปี เดิมทำงานประจำ เมื่อเข้าสู่อาชีพนี้จะเหมือนคนในอยากออก คนนอกอยากเข้า ยิ่งปัจจุบันกฎระเบียบรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการยกเลิกงาน ซึ่งเป็นประกาศจากบริษัทแพลตฟอร์มฝ่ายเดียว
“ ส่วนเรื่องประกันอุบัติเหตุ สมัยก่อนไรเดอร์ไม่ต้องโหมทำงานหนักเพื่อได้ประกันมาคุ้มครองตนเอง จากเคยกำหนด 150 งานต่อเดือน จะได้สิทธิประกัน บางแพลตฟอร์มวิ่ง 350 งานต่อเดือน แลกประกันอุบัติเหตุ และค่ารอบเริ่มต้น 91 บาท เริ่มทำงานเที่ยง ห้าโมงเย็นออกจากงานได้แล้ว แต่ปัจจุบันค่ารอบลดลง ไรเดอร์ต้องอยู่บนถนนมากขึ้น ต้นทุนจริงๆ คือความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ สวนทางกับโฆษณาประกันรายได้ 2.6 หมื่นบาทต่อเดือน แต่กลับไม่บอกต้นทุนแฝง ค่าความเสี่ยงอยู่ในถนนนานกว่าเดิม ทำงานหนักกว่าเดิม “ อนุกูล เล่า
ไรเดอร์รายนี้เผยความรู้สึกแพลตฟอร์มกดขี่ไรเดอร์ ยกเลิกหนึ่งงาน โดนระงับสัญญาณ 24 ชั่วโมง สถานะเหมือนนายจ้างและลูกจ้าง นอกจากนี้ การออกกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยไปทางแพลตฟอร์ม รวมถึงสร้างกฎระเบียบที่สร้างความขัดแย้งให้ไรเดอร์ใหม่เห็นงานก่อนไรเดอร์เก่า แพลตฟอร์มสร้างสถานการณ์แย่งชิงในหมู่ไรเดอร์ เช่น แอปฯ ช่วยกด ฝ่ายไม่ได้ใช้มองว่าฝ่ายใช้โกง สร้างสถานการณ์ทำให้ไรเดอร์แข่งขันกันเพิ่มมากขึ้น คนเก่าไม่ได้งานก็เลิกเป็นไรเดอร์ หาอาชีพอื่นทำแทน
ขณะที่ อ.ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน เสนอทางออกแก้ปัญหาว่า ถึงเวลาสร้างกลไกในการกำกับธุรกิจแพลตฟอร์มแบบมีส่วนร่วมจากหลายฝ่ายอย่างเป็นธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน การรวมตัวของแรงงานแพลตฟอร์มในการรวมกลุ่ม และการสร้างจิตสำนึกของผู้บริโภคในการใช้บริการ การผลักดันแนวทางกรอบการใช้กฎหมายรูปแบบการทำงานอย่างเป็นธรรม
ในมุมมองแก้ปัญหาแรงงานไรเดอร์ นาวิน ธาราแสวง ผอ.สำนักงานนโยบายแรงงานนอกระบบ กระทรวงแรงงาน บอกว่า คณะกรรมาธิการการแรงงานดำเนินการเรื่องการทำงานในสภาพแรงงานแพลตฟอร์ม โดยมีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาสภาพการจ้างงานและกฎหมาย ผลักดันสิ่งเหล่านี้ต่อเนื่อง ปัจจุบัน กม.ในประเทศไทยล้าสมัย และการบังคับใช้ไม่ทันต่อเหตุการณ์ กม.คุ้มครองแรงงานไม่นำมาใช้ในการคุ้มครองแรงงาน เกิดช่องว่างการจ้างงานมากขึ้น
ทั้งนี้ นักวิชาการแรงงานมีความเห็นต่อประเด็นไรเดอร์หลากหลาย ส่วนที่สอดคล้องกันเป็นการเร่งสร้างความตระหนักต่อสภาพการทำงานและหลักประกันของแรงงานส่งอาหารทั้งในปัจจุบันและคนที่จะก้าวสู่อาชีพนี้ในอนาคต