วันที่ 18 ส.ค. 64 นายแพทย์ประภาส ลี้สุทธิพรชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอ่างทอง เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว หลังเกิดดราม่ามีผู้นำข้อมูลรายชื่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ บูส เข็มที่ 3 ในวันที่ 10 – 11 ส.ค. 64 ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏ ชื่อของลูกชายผู้อำนวยการ ซึ่งไม่ได้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ของทางโรงพยาบาลร่วมฉีดด้วย
นายแพทย์ประภาส กล่าวว่า ในการบริหารการฉีดวัคซีนของทางโรงพยาบาล จะเป็นในรูปคณะกรรมการภายในโรงพยาบาล โดยมีรองผู้อำนวยการทุกฝ่ายร่วมกันพิจารณา ซึ่งตนไม่ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการ สำหรับรายชื่อที่มีผู้นำไปเผยแพร่ ทำให้เกิดดราม่าขึ้นนั้น ได้มีการสำรวจบุคลากรในรอบแรกจากทุกทีที่มีความประสงค์ รวมถึงคลินิกต่างๆ ที่สัมผัสเสี่ยงสูงกับคนไข้ ยืนยันว่าลูกชายตนไม่ได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ บูสเข็มที่ 3 ที่โรงพยาบาลอ่างทอง และไม่มีความประสงค์ที่จะให้มีรายชื่อฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในโรงพยาบาลอ่างทอง โดยพร้อมจะเปิดเผยรายชื่อและข้อมูลอย่างโปร่งใส ขอยืนยันว่าการบริหารวัคซีน บุคลากรที่ได้รับทุกคนเป็นผู้ให้บริการด่านหน้า เรื่องนี้สามารถสอบถามได้จากเจ้าหน้าที่ทุกคน ได้รับการจัดสรรรวัคซีนแล้ว
ทางด้าน นพ.กิตติ อิ่มใจ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ที่รับผิดชอบดูแลการฉีดวัคซีนบุคลากรใน รพ.อ่างทอง เปิดเผยว่า สำหรับข้อเท็จจริงกรณีที่ถูกนำไปเผยแพร่ เป็นข้อมูลที่นำเสนอว่า บุคลากรคนใดต้องการวัคซีนชนิดใด ซึ่งเป็นข้อมูลร้องขอ ที่จะต้องนำไปพิจารณาลำดับความสำคัญ ของบุคลากรที่มีความเสี่ยงทำงานด่านหน้า ซึ่งทางคณะกรรมการได้ขอให้แต่ละหน่วยงานส่งรายชื่อบุคลากรที่เป็นด่านหน้าที่มีความจำเป็นมา รวมถึงคลินิกต่างๆ ที่มีความเสี่ยงสูง
“สำหรับลูกชายท่านผู้อำนวยการที่มีชื่อปรากฏ เป็นแพทย์ที่ทำงานอยู่ด่านหน้าเช่นกัน ก็ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เพราะทำงานที่อื่น และได้รับการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลต้นสังกัด ขณะที่โรงพยาบาลอ่างทอง ได้รับการจัดสรรโควตาวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 545 โดส จากยอดทั้งหมด 648 คน ซึ่งได้จัดสรรตามความสำคัญแต่ยังไม่เพียงพอ ยืนยันว่าคณะกรรมการได้ทำการจัดลำดับความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์อย่างโปร่งใส แต่ต้องยอมรับว่าในการลงทะเบียนฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 3 อาจมีบุคลากรบางส่วนยังไม่ได้ลงชื่อ หรือลงชื่อยังไม่ครบ ซึ่งคณะกรรมการไม่สามารถลงไปตรวจสอบรายละเอียดได้ทุกราย”
นพ.กิตติ กล่าวด้วยว่า จะไม่ตำหนิผู้ที่นำข้อมูลไปเผยแพร่ เพราะข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลชุดแรกที่ยังไม่ได้มีการพิจารณา ซึ่งหลังจากพิจารณาแล้วจึงเป็นข้อมูลชุดสุดท้ายที่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลอ่างทอง ที่มีความสำคัญเรียงลำดับกันไป ต้องได้ฉีดทั้งหมด.